เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 3. ปัจจเวกขณสูตร
3. ปัจจเวกขณสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาอกุศลธรรมและกุศลธรรม
[53] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาบาป
อุกศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่
พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบบาปอกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์
ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ในกาลก่อน หมู่กิเลสได้มีแล้ว
แต่ในกาลนั้น หมู่กิเลสไม่มี
ในกาลก่อน ธรรมอันปราศจากโทษไม่มี
แต่ในกาลนั้น ธรรมอันปราศจากโทษได้มีแล้ว
ในอดีต อริยมรรคไม่มี ในอนาคตก็จักไม่มี และในปัจจุบันก็ไม่มี1
ปัจจเวกขณสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ ก่อนการบรรลุอรหัตตมัคคญาณยังมีกิเลส เช่น ราคะ เป็นต้นเหลืออยู่
และธรรมที่ปราศจากโทษก็ยังไม่เจริญบริบูรณ์ แต่เมื่อบรรลุอรหัตตมัคคญาณแล้ว กิเลสทั้งหลายก็ถูกละ
ได้สิ้นเชิง ธรรมที่ปราศจากโทษก็เจริญบริบูรณ์
อนึ่ง ในอดีตก่อนตรัสรู้ อริยมรรคที่เป็นเหตุละกิเลสยังไม่เกิดแก่พระองค์ แม้ในปัจจุบันและอนาคต
อริยมรรคนั้นก็ไม่เกิดแก่พระองค์เช่นกัน เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องใช้อริยมรรคนั้นเป็นเครื่องละอีกต่อไป (ขุ.อุ.อ.
53/362)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :288 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 4. ปฐมนานาติตถิยสูตร
4. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ 1
[54] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
1. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลก1เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
2. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
3. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกมี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
4. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่มี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
5. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะ2
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
6. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
7. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต3เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
1 โลก ในที่นี้หมายถึงอัตตา (ขุ.อุ.อ.54/363)
2 ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (Soul) (อภิ.ปญฺจ.อ.1/1/129)
3 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา(อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตตะ (ที.สี.อ. 1/65/108, ขุ.อุ.อ. 54/364)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :289 }