เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 6. โสณสูตร
ที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุมคือ 10 รูปได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง 3 ปี1 จึงให้
ท่านโสณะอุปสมบทได้
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิด
คำนึงอย่างนี้ว่า “เราไม่เคยเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย
เพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต เราจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น”
ครั้งนั้นในเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา-
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า
เราไม่เคยเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย เพียงแต่ได้ยินว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ ถ้าพระอุปัชฌาย์
อนุญาต กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส2 มีพระอินทรีย์สงบ
มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ3สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงเวลาผ่านไป 3 พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. 3/257/170)
2 น่าเลื่อมใส หมายถึงมีพระรูปกายถึงพร้อมด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระ เพราะประดับด้วยมหาปุริส-
ลักษณะ 32 ประการ อนุพยัญชนะ 80 ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา เป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส หมายถึงทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรม เช่น พลญาณ 10 เวสารัชชญาณ 4
อสาธารณญาณ 6 และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง 18 ประการ (ดู ที.ปา.อ. 3/305/188-189) (ขุ.อ.อ.
10/90, สารตฺถ.ฏีกา 3/257/363)
3 ทมถะ หมายถึงปัญญาบ้าง ความสงบกายบ้าง สมถะ หมายถึงสมาธิบ้าง ความสงบจิตบ้าง (วิ.อ.
3/257/170) อีกนัยหนึ่ง ทมถะ หมายถึงโลกุตตรปัญญาวิมุตติ สมถะ หมายถึงโลกุตตรเจโตวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :271 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 6. โสณสูตร
ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ท่านครั้นเห็นแล้วจงถวายอภิวาทพระ-
ยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทูลถามถึงสุขภาพ ความมี
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำ
ของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะ พระอุปัชฌาย์ของข้า
พระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูล
ถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ”
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ชื่นชม ยินดีคำที่ท่าน
พระมหากัจจานะกล่าวแล้ว ลุกจากอาสนะ ไหว้ท่านพระมหากัจจานะ ทำประทักษิณแล้ว
จึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ
จนถึงพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี แล้วเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะพระอุปัชฌาย์
ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ
เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ท่านพระโสณะทูลตอบว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก ทั้งบิณฑบาตก็ไม่ลำบาก
พระพุทธเจ้าข้า”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิด
ดังนี้ว่า “การที่พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ‘อานนท์ เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุ
อาคันตุกะรูปนี้’ สำหรับภิกษุรูปใด มีนัยให้รู้ว่าพระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :272 }