เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 5. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง1
แม้ครั้งที่ 2 เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้ง 3 เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่ม
สว่าง ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี
พระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน” จึงกำหนดจิตของภิกษุสงฆ์
ด้วยจิต(ของตน) ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ
ที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ
นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นั้น ครั้นเห็นแล้วจึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้นแล้ว
กล่าวว่า “ท่านจงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส2กับ
ภิกษุทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
1 เหตุที่ทรงนิ่ง ก็ด้วยพระประสงค์จะอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท เพราะหากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จะแตก 7 เสี่ยง พระองค์จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/20/245)
2 สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดรวมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน (วิ.มหา.(แปล)
1/55/43)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :261 }