เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 4. กุมารกสูตร
พุทธอุทาน
บัณฑิตในโลกนี้ เมื่อยังมีความบากบั่นอยู่
ควรละเว้นบาปทุกอย่าง
เหมือนคนตาดีละเว้นทางขรุขระ ฉะนั้น
สุปปพุทธกุฏฐิสูตรที่ 3 จบ

4. กุมารกสูตร
ว่าด้วยเด็กจับปลา
[44] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กจำนวนมากจับปลาอยู่ในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากจับปลาอยู่
ในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวันนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กเหล่านั้นแล้วได้ตรัส
ถามดังนี้ว่า “พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รัก
ของเธอทั้งหลายมิใช่หรือ”
เด็กทั้งหลายทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัว
ความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของข้าพระองค์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :259 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 5. อุโปสถสูตร
พุทธอุทาน
ถ้าเธอทั้งหลายกลัวความทุกข์
ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย
ก็อย่าได้ทำบาปกรรมในที่แจ้ง1หรือบาปกรรมในที่ลับ2
เพราะถ้าเธอทั้งหลายจักทำ หรือกำลังทำบาปกรรมอยู่
ถึงจะเหาะหนีไป เธอย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้
กุมารกสูตรที่ 4 จบ

5. อุโปสถสูตร3
ว่าด้วยอุโบสถกรรม
[45] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับ
นั่งในวันอุโบสถวันหนึ่ง
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว4 ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก
อาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 บาปกรรมในที่แจ้ง หมายถึงกรรมชั่วทางกาย และทางวาจา (ขุ.อุ.อ. 44/315)
2 บาปกรรมในที่ลับ หมายถึงกรรมชั่วทางใจ (ขุ.อุ.อ. 44/315)
3 วิ.จู. (แปล) 7/383-385/283-285, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/20/252-265, อภิ.ก. 37/346/188
4 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 6 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :260 }