เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 3. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา (เรื่องทาน)
2. สีลกถา (เรื่องศีล)
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)1
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา2ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
1 แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. 25/43/160)
2 สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา
หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ 4 ประการ (ขุ.อุ.อ. 43/303)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :256 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 3. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ครั้งนั้นแล ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม
หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย1 ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ
แกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย2 ในศาสนาของพระศาสดา ลุกจาก
ที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็น
รูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
เมื่อชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้ฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็ชื่นชมยินดีพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วลุกขึ้นทำประทักษิณจากไป ทันใดนั้นเอง
โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้จากไปไม่นานจนล้มลงเสียชีวิต
ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้ได้ฟังพระดำรัสที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจ

เชิงอรรถ :
1 ความสงสัย หมายถึงวิจิกิจฉา 8 ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ 10 ประการ ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ.
(แปล) 34/1008/261, และวิจิกิจฉา 16 ประการ ดูรายละเอียดใน ม.มู. (แปล) 12/18/19, สํ.นิ.
16/20/27
2 ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่นหรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นสนับสนุนให้เชื่อ
เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. 1/299/250, องฺ.ฉกฺก.อ. 3/16/106, ขุ.อุ.อ. 43/306,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/16/118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :257 }