เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 6. ปิณโฑลสูตร
6. ปิณโฑลสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[36] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ถือการนุ่งห่มไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการ
นุ่งห่มผ้าไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย1
ปิณโฑลสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบทข้อ 185 หน้า 91 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :244 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 7. สารีปุตตสูตร
7. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[37] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย
สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้มีจิตมั่นคง1 ไม่ประมาท เป็นมุนี2
ศึกษาทางแห่งความเป็นมุนี3
ผู้คงที่ สงบ มีสติทุกขณะ
ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก4
สารีปุตตสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีจิตมั่นคง ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยอรหัตตผลจิตที่ยอดเยี่ยมกว่าจิตทั้งปวง (ขุ.อุ.อ. 37/272)
2 มุนี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณที่เรียกว่า โมนะ (ขุ.อุ.อ. 37/272)
3 ทางแห่งความเป็นมุนี หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ขุ.อุ.อ. 37/272)
4 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/68/328

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :245 }