เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 1. เมฆิยสูตร
3. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
4. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ1
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน2
วิตกที่หยาบ3และวิตกที่ละเอียด4
เป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน
บุคคลผู้มีจิตสับสน ไม่รู้วิตกแห่งใจเหล่านี้
ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่
ส่วนผู้ที่เพียรระวัง มีสติอยู่เสมอ
รู้เท่าทันวิตกที่เกิดแก่จิตเหล่านี้ ย่อมสำรวมระวัง
บุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น
ย่อมละวิตกที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่านได้โดยไม่เหลือ
เมฆิยสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 อัสมิมานะ หมายถึงมานะ 9 ประการ (องฺ.นวก.อ. 3/1/286) และดู องฺ.นวก. (แปล) 23/1/428, ขุ.ม.
(แปล) 29/178/508, อภิ.สงฺ. (แปล) 34/1239/314, อภิ.วิ. (แปล) 35/832/536 ประกอบ
2 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษแห่งการไม่บรรเทา และอานิสงส์แห่งการบรรเทากามวิตก เป็นต้น (ขุ.อุ.อ.
31/252)
3 วิตกที่หยาบ หมายถึงอกุศลวิตก มี 3 คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก (ขุ.อุ.อ. 31/252)
4 วิตกที่ละเอียด หมายถึงญาติวิตก(ความตรึกถึงญาติ) ชนปทวิตก(ความตรึกถึงชนบท) อมราวิตก(ความ
ตรึกถึงเทพเจ้า) เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 31/252)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :236 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 2. อุทธตสูตร
2. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[32] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน1
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย2 มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ3ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร4
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต5
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. 32/254)
2 ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ 6 (ขุ.อุ.อ. 32/254)
3 ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. 32/254)
4 มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 32/255)
5 รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ 6 ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. 32/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :237 }