เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [3. นันทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวถึงการออกจากภพด้วยวิภพ1
เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้ออกจากภพไม่
เพราะอาศัยอุปธิ2ทั้งปวง ทุกข์นี้จึงเกิดมีขึ้น เพราะอุปาทานทั้งหมดสิ้นไป
ทุกข์จึงไม่เกิด ท่านจงดูสัตว์โลกนี้ สัตว์เป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำ หรือ
มัวหลงติดใจในสัตว์ด้วยกัน จึงหลุดพ้นไปจากภพไม่ได้ ความจริง ภพอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทุกชั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
บุคคลเมื่อรู้เห็นเบญจขันธ์คือภพนี้
ตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ ด้วยปัญญาอันชอบ
ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีวิภวตัณหา
เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไปโดยประการทั้งปวง
ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ คือนิพพานจึงมี
เพราะไม่มีความยึดมั่น ภิกษุผู้นิพพานแล้ว จึงไม่มีภพใหม่
ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าครอบงำมารได้ ชนะสงครามได้
ก้าวล่วงภพทั้งปวงได้ เป็นผู้คงที่ ฉะนี้
โลกสูตรที่ 10 จบ
นันทวรรคที่ 3 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กัมมวิปากชสูตร 2. นันทสูตร
3. ยโสชสูตร 4. สารีปุตตสูตร
5. มหาโมคคัลลานสูตร 6. ปิลินทวัจฉสูตร
7. สักกุทานสูตร 8. ปิณฑปาติกสูตร
9. สิปปสูตร 10. โลกสูตร


เชิงอรรถ :
1 หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่าความหลุดพ้นจากภพจะมีได้ก็ด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. 30/224)
2 อุปธิ หมายถึงขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร (ขุ.อุ.อ. 30/225-226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :230 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 1. เมฆิยสูตร
4. เมฆิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมฆิยเถระ
1. เมฆิยสูตร1
ว่าด้วยพระเมฆิยเถระ2
[31] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
สมัยนั้น ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระ
เมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
ยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เดินไป
ตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า “ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนี้”
ต่อมา ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) 23/3/430-434
2 พระเมฆิยเถระ เป็นพระอุปัฏฐากรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ในต้นพุทธกาล(20 พรรษาแรก) พระผู้มี
พระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้พระ-
อุปวาหนะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บางคราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ (ขุ.อุ.อ. 31/230)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :231 }