เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 1. ยมกวรรค 1. จักขุปาลเถรวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน
1. จักขุปาลเถรวัตถุ
เรื่องพระจักขุบาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[1] ธรรมทั้งหลาย1 มีใจ2เป็นหัวหน้า3
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งหลาย มีความหมาย 4 ประการ คือ (1) คุณธรรม (2) เทศนาธรรม (3) ปริยัติธรรม
(4) นิสสัตตธรรม (สภาวะที่มิใช่สัตว์) หรือนิชชีวธรรม (สภาวะที่มิใช่ชีวะ) ในที่นี้หมายถึงนิสสัตตธรรม
ได้แก่ อรูปขันธ์ 3 คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ (ขุ.ธ.อ. 1/20-21) และดู ขุ.ชา. (แปล)
27/386/537 ประกอบ
2 ใจ หมายถึงจิต 4 ระดับ คือ จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ และ
จิตระดับโลกุตตรภูมิ แต่ในที่นี้หมายเอาจิตที่มีโทมนัสประกอบด้วยปฏิฆะ เดิมทีเดียว จิตนั้นเป็นภวังคจิต
คือเป็นจิตที่ผ่องใส(ปภัสสรจิต) แต่เมื่อถูกเจตสิกธรรมฝ่ายชั่วกล่าวคืออุปกิเสสธรรมจรมากระทบเข้า ก็กลาย
เป็นจิตเศร้าหมองที่เรียกว่า ใจชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและวาจา (ขุ.ธ.อ. 1/20)
3 เป็นหัวหน้า หมายถึงเป็นหัวหน้าของเจตสิกธรรม กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. 1/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :23 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 1. ยมกวรรค 3. ติสสเถรวัตถุ
2. มัฏฐกุณฑลีวัตถุ
เรื่องนายมัฏฐกุณฑลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อทินนปุพพกพราหมณ์บิดาของนาย
มัฏฐกุณฑลี ดังนี้)
[2] ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น1

3. ติสสเถรวัตถุ2
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[3] ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบระงับ

เชิงอรรถ :
1 ความหมายของธรรมบทข้อที่ 2 นี้มีนัยตรงกันข้ามกับธรรมบทข้อที่ 1 ดูเทียบเชิงอรรถหน้า 23 และดู
ขุ.ธ.อ. 1/32-34 ประกอบ
2 ธรรมบทข้อ 3-6 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/464/354, ม.อุ. 14/237/203-204, ขุ.ชา. (แปล) 27/113-
115/220

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :24 }