เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [3. นันทวรรค] 3. ยโสชสูตร
ภิกษุรูปนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วก็หายไปจากกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ไปปรากฏเบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เหมือนคนมีกำลัง
เหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทาว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับ
หายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคาร-
ศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ1 ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น
ได้มีควมคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-
วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุก
จากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล
อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ 2 เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็
ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว

เชิงอรรถ :
1 อาเนญชสมาธิ หมายถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ 4 เป็นพื้นฐาน อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
มีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้าอาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุ
เหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์ และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผล
โดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. 23/195)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :217 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [3. นันทวรรค] 3. ยโสชสูตร
มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับ
ภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่เช่นเดิม
แม้ครั้งที่ 3 เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัด
แก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ 500 รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน1
ภิกษุใดละหนามคือกามได้2
ชนะการด่าได้3 ชนะการทำร้ายได้4 และชนะการจองจำได้
ภิกษุนั้นดำรงมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
ยโสชสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการละกิเลสมีราคะเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง แสดงความสำเร็จ และความเป็นผู้
คงที่ของภิกษุเหล่านั้น (ขุ.อุ.อ. 23/197)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 214 ในเล่มนี้
3 ชนะการด่า หมายถึงไม่มีวจีทุจริต (ขุ.อุ.อ. 23/197)
4 ชนะการทำร้าย หมายถึงไม่มีกายทุจริต (ขุ.อุ.อ. 23/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :218 }