เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] 10. ภัททิยสูตร
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านดังนี้ว่า
“ภัททิยะ ทราบว่า เธอเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็เธอมองเห็นประโยชน์อะไร เมื่ออยู่
ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็น
ฆราวาส เสวยความสุขในราชสมบัติ ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกเมือง ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท
ข้าพระองค์นั้นถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่น
ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่เวลานี้ ข้าพระองค์เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่
ในเรือนว่างก็ดี เพียงผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความ
ปรารถนาน้อย ไม่ขนลุกขนพอง ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ มีจิตอิสระดุจมฤค1
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นประโยชน์อย่างนี้ เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 มีจิตอิสระดุจมฤค หมายถึงมีความโล่งใจ เหมือนเนื้อทรายที่อยู่ในป่าห่างไกลจากมนุษย์ จะยืน เดิน นั่ง
นอน ก็โล่งใจ (ขุ.อุ.อ. 20/171)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :207 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน1
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ2ภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ3ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก4
ภัททิยสูตรที่ 10 จบ
มุจจลินทวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. มุจจลินทสูตร 2. ราชสูตร
3. ทัณฑสูตร 4. สักการสูตร
5. อุปาสกสูตร 6. คัพภินีสูตร
7. เอกปุตตกสูตร 8. สุปปวาสาสูตร
9. วิสาขาสูตร 10. ภัททิยสูตร


เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความ
โศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. 20/171)
2 กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. 20/172)
3 ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ) สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่
ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย) อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ) บาป(ความชั่ว)
มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. 20/172)
4 ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 7/332/173

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :208 }