เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] 9. วิสาขาสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเที่ยงวัน นางวิสาขา มิคารมาตาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
กับนางวิสาขาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน แต่เที่ยงวัน” นางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีประโยชน์บางอย่างที่
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ประโยชน์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจผู้อื่น ก่อให้เกิดทุกข์
ความเป็นอิสระ1ทั้งปวง ก่อให้เกิดสุข
สัตว์ทั้งหลายเมื่อยังมีประโยชน์ทั่วไปอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะโยคะทั้งหลาย2เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงได้ยาก
วิสาขาสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ความเป็นอิสระ มี 2 อย่าง คือ (1) ความอิสระอันเป็นโลกิยะ ได้แก่ ความเป็นพระราชา เป็นต้น และ
ความมีจิตอิสระที่เกิดจากฌานและอภิญญา (2) ความอิสระอันเป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความอิสระที่เกิดจาก
นิโรธซึ่งมีเหตุมาจากการบรรลุมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความอิสระที่เกิดจากนิโรธ เป็นความอิสระที่ก่อ
ให้เกิดสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องหวั่นไหวต่อโลกธรรม และเพราะมีสภาวะที่ไม่ต้องกลับเป็นทุกข์ได้อีก
(ขุ.อุ.อ. 19/167)
2 ดูเชิงอรรถที่ 6 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :205 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] 10. ภัททิยสูตร
10. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระภัททิยเถระ
[20] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่าน
พระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร1เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุจำนวนมากได้ฟังท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังแล้ว จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับ
ความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น
เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
‘สุขหนอ สุขหนอ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะ
กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทาน
เนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับความสุขในราชสมบัติ เมื่อครั้งเป็น
ฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี
หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจง
ไปเรียกภิกษุชื่อภัททิยะมาหาเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน” ภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาซึ่งเป็นเจ้าหญิงสากิยาราชเทวี ท่านบวชได้ไม่นานก็
บำเพ็ญวิปัสสนาจนได้บรรลุอภิญญา 6 สมาทานธุดงค์ 13 ประการ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเกิด
ในตระกูลสูง (ขุ.อุ.อ.20/168)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :206 }