เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] 3. ทัณฑสูตร
พุทธอุทาน1
กามสุข2ในโลก3และทิพยสุข4 ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16
แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา5
ราชสูตรที่ 2 จบ

3. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยการทำร้ายสัตว์ด้วยท่อนไม้
[13] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กชายจำนวนมากใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาย
เหล่านั้นกำลังใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพอริยวิหารสุข (ขุ.อุ.อ. 12/111)
2 กามสุข หมายถึงความสุขที่เกิดจากกิเลสกาม (ขุ.อุ.อ. 12/111-112)
3 โลก หมายถึงสัตวโลกและโอกาสโลก (ขุ.อุ.อ. 12/111)
4 ทิพยสุข หมายถึงสุขอันเป็นทิพย์และสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติของพรหมและมนุษย์ (ขุ.อุ.อ. 12/112)
5 ความสุขคือความสิ้นตัณหา หมายถึงสุขอันเกิดจากผลสมาบัติ (ขุ.อุ.อ. 12/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :192 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] 4. สักการสูตร
พุทธอุทาน
ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมได้รับความสุข1
ทัณฑสูตรที่ 3 จบ

4. สักการสูตร
ว่าด้วยเครื่องสักการะ
[14] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์2
ปริพาชก เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบทข้อ 131-132 หน้า 73 ในเล่มนี้
2 อัญเดียรถีย์ หมายถึงนักบวชผู้ชายภายนอกพระพุทธศาสนา (วิ.อ. 3/132/105)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :193 }