เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 8. นิธิกัณฑสูตร
[11] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[12] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ1
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[13] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[14] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา2
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[15] ปฏิสัมภิทา3 วิโมกข์4 สาวกบารมี5
ปัจเจกโพธิ6 และพุทธภูมิ7
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
1 ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. 8/203)
2 มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี
ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. 8/205)
3 ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี 4 ประการ คือ (1) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
(2) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (3) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
(4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
4 วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ 8 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
5 สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
6 ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
7 พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง (ขุ.ขุ.อ. 8/206)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :19 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 9. เมตตสูตร
[16] บุญสัมปทา1นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ

9. เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[1] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท2
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ3ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[2] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย4
มีความประพฤติเบา5 มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง6 ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. 8/206)
2 สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. 9/212)
3 กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. 9/212)
4 มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลี
หมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น
หลัก (ขุ.ขุ.อ. 9/216)
5 มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร 8 เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็น
ภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. 9/216)
6 ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. 9/217)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :20 }