เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 8. นิธิกัณฑสูตร
[11] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[12] ญาติธรรม1นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ

8. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[1] คนเราฝังขุมทรัพย์2ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[2] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย3
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

เชิงอรรถ :
1 ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. 7/190)
2 ขุมทรัพย์ มี 4 ชนิด คือ (1) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (2) ชังคมะ
คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (3) อังคสมะ
คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (4) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. 8/193)
3 ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.
8/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :17 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 8. นิธิกัณฑสูตร
[3] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[4] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[5] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[6] ขุมทรัพย์1ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ2
[7] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[8] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[9] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[10] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
1 ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ (ดูเชิงอรรถหน้า 17 ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. 8/196)
2 สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ทมะ
หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. 8/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :18 }