เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 29. เรวตเถรวัตถุ
27. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[410] ผู้ใดไม่มีความหวัง1ในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

28. มหาโมคคัลลานวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[411] ผู้ใดไม่มีความอาลัย2 หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ3 บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

29. เรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[412] ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ความหวัง (อาสา) หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/130)
2 อาลัย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/130)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :163 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 31. สีวลิเถรวัตถุ
30. จันทาภเถรวัตถุ
เรื่องพระจันทาภเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[413] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว1 เป็นผู้สิ้นความเพลิดเพลินในภพ2
เราเรียกว่า พราหมณ์

31. สีวลิเถรวัตถุ
เรื่องพระสีวลีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[414] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม3 ทางหล่ม4
สงสาร5และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ไม่ขุ่นมัว หมายถึงปราศจากมลทินคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. 8/135)
2 ความเพลิดเพลินในภพ หมายถึงตัณหาในภพทั้ง 3 (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) (ขุ.ธ.อ. 8/135)
3 ทางอ้อม หมายถึงราคะ
4 ทางหล่ม หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. 8/135)
5 สงสาร หมายถึงสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) (ขุ.ธ.อ. 8/137)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :164 }