เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 23. สามเณรวัตถุ
21. ปัพภารวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[404] ผู้ไม่คลุกคลี1กับคน 2 จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์

22. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[405] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง2และสัตว์ที่มั่นคง3
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

23. สามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[406] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงการคลุกคลีทางกายคือการเห็น การฟัง การเจรจาปราศรัย การร่วมกิน ร่วมดื่ม
(ขุ.ธ.อ. 8/120)
2 สัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง หมายถึงสัตว์ที่ยังมีตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/121)
3 สัตว์ที่มั่นคง หมายถึงสัตว์ที่หมดตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :161 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 26. อัญญตรภิกขุวัตถุ
24. มหาปันถกเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาปันถกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[407] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป1
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

25. ปิลินทวัจฉเถรวัตถุ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[408] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์

26. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[409] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ตกไป หมายถึงไม่ให้ตั้งอยู่ในใจ (ขุ.ธ.อ. 8/126)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :162 }