เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 17. สารีปุตตเถรวัตถุ
15. เทวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ 2 คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ 500 รูป ดังนี้)
[398] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน1
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก2เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

16. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[399] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์

17. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[400] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ 62 (ขุ.ธ.อ. 8/110)
2 สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. 8/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 20. เขมาภิกขุนีวัตถุ
18. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[401] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

19. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[402] ผู้ใดในศาสนานี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

20. เขมาภิกขุนีวัตถุ
เรื่องพระเขมาภิกษุณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาทั้งหลาย
ดังนี้)
[403] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง1 บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ฉลาดในทางและมิใช่ทาง หมายถึงรู้ว่าธรรมนี้เป็นทางไปทุคติ ธรรมนี้เป็นทางไปสุคติ ธรรมนี้เป็นทาง
ไปนิพพาน และรู้ว่าธรรมนี้มิใช่ทาง (ขุ.ธ.อ. 8/116)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :160 }