เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 14. อุคคเสนวัตถุ
13. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[396] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด
เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์
ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที1เท่านั้น
เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์2

14. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[397] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง3
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง4ได้
ผู้ปราศจากโยคะ5
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. 8/108)
2 ม.ม. (แปล) 13/457/577
3 ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/109)
4 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 149 ในเล่มนี้
5 ดูเชิงอรรถที่ 6 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :158 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 17. สารีปุตตเถรวัตถุ
15. เทวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ 2 คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ 500 รูป ดังนี้)
[398] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน1
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก2เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

16. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[399] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์

17. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[400] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ 62 (ขุ.ธ.อ. 8/110)
2 สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. 8/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :159 }