เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 12. กิสาโคตมีวัตถุ
11. กุหกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์โกหก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพราหมณ์โกหกมีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระคาถานี้
แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[394] เจ้าคนมีปัญญาทราม การเกล้าชฎา การครองหนังเสือ
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเจ้า
ภายนอกของเจ้าเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลา
แต่ภายในของเจ้ารกรุงรัง1

12. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางกิสาโคตมีจึงตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพ
ดังนี้)
[395] ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ซูบผอม มีเส้นเอ็นปรากฏทั่วร่าง
เพ่งพินิจอยู่ในป่าผู้เดียว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 รกรุงรัง หมายถึงรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/11/106)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :157 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 14. อุคคเสนวัตถุ
13. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[396] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด
เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์
ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที1เท่านั้น
เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์2

14. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[397] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง3
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง4ได้
ผู้ปราศจากโยคะ5
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. 8/108)
2 ม.ม. (แปล) 13/457/577
3 ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/109)
4 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 149 ในเล่มนี้
5 ดูเชิงอรรถที่ 6 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :158 }