เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 7. สารีปุตตเถรวัตถุ
6. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระมีพระภาค เรื่องบรรพชิต
พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[388] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์
เพราะประพฤติสงบ1 เราเรียกว่า สมณะ
ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน2ของตนให้หมดไปได้
เราจึงเรียกว่า บรรพชิต

7. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถา
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[389] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์
ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น
น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์
พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า
[390] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก3ทั้งหลายได้
เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย
ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้น ๆ

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. 8/97)
2 มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/97)
3 อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. 8/99)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :155 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 10. ชฏิลพราหมณวัตถุ
8. มหาปชาปตีโคตมีวัตถุ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้)
[391] ผู้ไม่มีกรรมชั่ว1ทางกาย วาจา และใจ
สำรวมระวังได้ครบทั้ง 3 ทวาร
เราเรียกว่า พราหมณ์

9. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตร นอบน้อมทิศที่พระอัสสชิเถระอยู่ จึงตรัส
พระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[392] บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
จากอาจารย์ใด
ควรนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ
เหมือนพราหมณ์2นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น

10. ชฏิลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ชฎิล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ชฎิลผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[393] คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะเกล้าชฎา
ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด
แต่สัจจะ3และธรรม4มีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้น เป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 กรรมชั่ว หมายถึงกรรมที่มีโทษ มีทุกข์เป็นกำไร นำสัตว์ให้ตกไปในอบาย (ขุ.ธ.อ. 8/100)
2 พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์โดยชาติกำเนิด (ขุ.ธ.อ. 8/102)
3 สัจจะ หมายถึงสัจญาณอันหยั่งรู้สัจจะ 4 โดยอาการ 16 (ขุ.ธ.อ. 8/103)
4 ธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 (ขุ.ธ.อ. 8/103)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :156 }