เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 25. ภิกขุวรรค 7. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[370] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงละสังโยชน์เบื้องสูง 5
และพึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง 51 ได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้2
[371] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท
จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ
อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก)
อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง
[372] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[373] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง3
มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป
[374] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด
และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย
ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์
ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย
[375] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ
ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ
และความสำรวมในปาติโมกข์
เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเครื่องข้อง 5 อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (สํ.ส.อ. 1/5/24, ขุ.ธ.อ.8/67)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/5/6, ขุ.เถร. (แปล) 26/15/308, 633/449
3 เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. 8/68)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :149 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 25. ภิกขุวรรค 9. สันตกายเถรวัตถุ
[376] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

8. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[377] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย
เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น

9. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[378] ภิกษุผู้มีกายสงบ1 มีวาจาสงบ2
มีใจสงบ3 มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
และเป็นผู้ละโลกามิสได้
เราเรียกว่าผู้สงบระงับ

เชิงอรรถ :
1 มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)
2 มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)
3 มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :150 }