เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 8. มารวัตถุ
7. จูฬธนุคคหปัณฑิตวัตถุ
เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[349] บุคคลผู้ถูกวิตก1ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
[350] ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก2
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร3ได้

8. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[351] ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว4 ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

เชิงอรรถ :
1 วิตก หมายถึงความตรึกมี 3 อย่าง คือ กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทาง
พยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน (ขุ.ธ.อ. 8/30)
2 ฌานเป็นที่ระงับวิตก หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภะ 10 ประการเป็นอารมณ์ สามารถเข้าไปสงบระงับ
มิจฉาวิตกได้ (ขุ.ธ.อ. 8/30)
3 ดูเชิงอรรถที่ 3 หน้า 35 ในเล่มนี้
4 ความสำเร็จ หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. 8/32)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :142 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 9. อุปกาชีวกวัตถุ
[352] ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท1
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ

9. อุปกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามา
ถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[353] เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง2 รู้ธรรมทั้งปวง3
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง4 ละธรรมทั้งปวงได้5
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า6

เชิงอรรถ :
1 นิรุตติบท หมายถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา รวมทั้งปฏิสัมภิทาที่เหลืออีก 3 อย่าง (อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา
และปฏิภาณปฏิสัมภิทา) (ขุ.ธ.อ. 8/32)
2 ธรรม หมายถึงธรรม 3 ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 8/34)
3 ธรรม หมายถึงธรรม 4 ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 8/34)
4 มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่เปื้อนด้วยตัณหาและทิฏฐิในธรรม 3 ระดับนั้น (ขุ.ธ.อ. 8/34)
5 ละธรรมทั้งปวงได้ หมายถึงละธรรม 3 ระดับ กล่าวคือละธรรมชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร และชั้น
อรูปาวจรได้ (ขุ.ธ.อ. 8/34)
6 หมายถึงเมื่อรู้เองได้อย่างนี้แล้ว จะต้องอ้างใครเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อีกเล่า (ขุ.ธ.อ. 8/34) และดู
วิ.ม. (แปล) 4/11/11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :143 }