เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 6. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[346] นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช1

5. เขมาเถรีวัตถุ
เรื่องพระเขมาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี ดังนี้)
[347] สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ2
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้

6. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน ดังนี้)
[348] เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน3
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/121/140, ขุ.ชา. (แปล) 27/101-102/55
2 หมายรวมถึงขุ่นเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะด้วย (ขุ.ธ.อ. 8/20)
3 หมายถึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ความทะยานอยากในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ขุ.ธ.อ.8/24)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :141 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 8. มารวัตถุ
7. จูฬธนุคคหปัณฑิตวัตถุ
เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[349] บุคคลผู้ถูกวิตก1ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
[350] ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก2
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร3ได้

8. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[351] ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว4 ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

เชิงอรรถ :
1 วิตก หมายถึงความตรึกมี 3 อย่าง คือ กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทาง
พยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน (ขุ.ธ.อ. 8/30)
2 ฌานเป็นที่ระงับวิตก หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภะ 10 ประการเป็นอารมณ์ สามารถเข้าไปสงบระงับ
มิจฉาวิตกได้ (ขุ.ธ.อ. 8/30)
3 ดูเชิงอรรถที่ 3 หน้า 35 ในเล่มนี้
4 ความสำเร็จ หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. 8/32)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :142 }