เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 4. พันธนาคารวัตถุ
[343] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย

3. วิพภันตกวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ดังนี้)
[344] บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว1 มีใจน้อมไปในป่า2
พ้นจากป่าแล้ว3ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม

4. พันธนาคารวัตถุ
เรื่องเรือนจำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้)
[345] นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง

เชิงอรรถ :
1 อาลัย ในที่นี้หมายถึงความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ (ขุ.ธ.อ. 8/14)
2 ป่า ในที่นี้หมายถึงตบะ (ตโปวนะ) (ขุ.ธ.อ. 8/14)
3 ป่า ในที่นี้หมายถึงตัณหาคือเครื่องผูกให้อยู่ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. 8/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :140 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 6. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[346] นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช1

5. เขมาเถรีวัตถุ
เรื่องพระเขมาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี ดังนี้)
[347] สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ2
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้

6. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน ดังนี้)
[348] เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน3
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/121/140, ขุ.ชา. (แปล) 27/101-102/55
2 หมายรวมถึงขุ่นเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะด้วย (ขุ.ธ.อ. 8/20)
3 หมายถึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ความทะยานอยากในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ขุ.ธ.อ.8/24)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :141 }