เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 1. กปิลมัจฉวัตถุ
[332] ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ1ก็นำสุขมาให้
[333] ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา2
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
นาควรรคที่ 23 จบ

24. ตัณหาวรรค
หมวดว่าด้วยตัณหา
1. กปิลมัจฉวัตถุ
เรื่องปลากปิละ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ดังนี้)
[334] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท3
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกผู้ลอยบาปได้แล้ว
(ขุ.ธ.อ. 7/147)
2 ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา หมายถึงศีล 5 ศีล 10 เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องประดับทำให้เกิดความงาม
และความสุขแก่คนทุกเพศทุกวัย ไม่มีล้าสมัยไร้ตำหนิ ต่างจากเครื่องประดับภายนอกที่ทำให้งามเฉพาะ
เพศหรือวัย ใครที่ใช้เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับเพศหรือวัย ก็จะถูกตำหนิ และถูกสงสัยว่า
เป็นบ้าเสียสติ (ขุ.ธ.อ. 7/147)
3 ผู้ประพฤติประมาท หมายถึงผู้มีความเป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา
มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. 8/6)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :137 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 2. สูกรโปติกาวัตถุ
[335] ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น
[336] ส่วนบุคคลใดครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยากในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น
[337] เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา1
เหมือนคนต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝก
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น2

2. สูกรโปติกาวัตถุ
เรื่องลูกสุกรตัวเมีย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[338] ต้นไม้ เมื่อรากยังแข็งแรง ยังไม่ถูกทำลาย
แม้ลำต้นถูกตัดแล้ว ก็งอกขึ้นได้ใหม่ ฉันใด
ความทุกข์นี้ เมื่อบุคคลขจัดตัณหานุสัยไม่ได้ขาด
ก็ย่อมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ขุดรากเหง้า หมายถึงขุดรากเหง้าแห่งตัณหาอันเป็นไปในทวาร 6 นี้ ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตต-
มรรค (ขุ.ธ.อ. 8/7)
2 ธรรมบทข้อ 334-337 นี้ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/399-402/408-409

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :138 }