เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 5. ทุพพจภิกขุวัตถุ
(1) ได้บาป (2) นอนไม่เป็นสุข
(3) ถูกนินทา (4) ตกนรก
[310] เพราะการได้บาป 1 การได้คติที่เลว 1
หญิงชายที่ต่างสะดุ้งกลัวมีความสนุกนิดหน่อย 1
ถูกพระราชาลงพระอาชญาอย่างหนัก 1
นรชนจึงไม่ควรเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

5. ทุพพจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ว่ายาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ดังนี้)
[311] หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี1
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[312] กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง 3 นั้น ไม่มีผลมาก2
[313] หากภิกษุพึงทำกรรมใด ก็ควรทำกรรมนั้นให้จริงจัง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่นคง
เพราะธรรมเครื่องละเว้น3ที่ประพฤติอย่างย่อหย่อน
รังแต่จะเกลี่ยธุลี4ลงใส่ตัว

เชิงอรรถ :
1 ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี หมายถึงภาวะแห่งความเป็นสมณะ กล่าวคือสมณธรรมที่ภิกษุ
ปฏิบัติไม่ดีเพราะเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น ย่อมส่งผลให้สัตว์ไปเกิดในนรก (ขุ.ธ.อ. 7/115)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/89/94, ขุ.เถร. (แปล) 26/277/384
3 ธรรมเครื่องละเว้น ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (ขุ.ธ.อ. 7/116)
4 ธุลี หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 7/116)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :130 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 7. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
6. อิสสาปกติอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงขี้หึง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงขี้หึงและแก่บริษัท 4 ดังนี้)
[314] ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดี ทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลังบุคคลย่อมไม่เดือดร้อน

7. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในเมืองชายแดน ดังนี้)
[315] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
เธอทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะ1อย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมเศร้าโศก แออัดอยู่ในนรก2

เชิงอรรถ :
1 ขณะ หมายถึงเวลา หรือสมัย มี 4 คือ (1) ขณะแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (2) ขณะแห่งการเกิด
ในมัชฌิมประเทศ (3) ขณะแห่งการได้สัมมาทิฏฐิ (4) ขณะแห่งอายตนะทั้ง 6 ไม่วิกลวิกาล (ขุ.ธ.อ. 7/230)
2 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/653/452, 1004/504

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :131 }