เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 4. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
2. ทุกขปีฬิตสัตตวัตถุ
เรื่องสัตว์ถูกทุกข์เบียดเบียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[307] ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย

3. วัคคุมุทาตีริยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภภิกษุผู้อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา พูดอวดอุตริมนุสสธรรม
ที่ไม่มีในตนของกันและกันแก่คฤหัสถ์เพื่อปากท้อง จึงตรัสพระคาถาแก่ภิกษุเหล่านั้น
ดังนี้)
[308] การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย1

4. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายเขมกะผู้ชอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ดังนี้)
[309] นรชนที่ประมาท ชอบเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
ย่อมถึงฐานะ2 4 ประการ คือ

เชิงอรรถ :
1 ข้อความคาถานี้หมายถึงการที่บุคคลกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิงนั้นส่งผลให้ได้รับทุกขเวทนา
ถึงตาย เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่การที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธานั้น ทำให้ตกนรก
หลายร้อยชาติ ดังนั้น การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนนั้นจึงดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวชาวบ้าน (ขุ.ธ.อ.
7/112)
2 ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุแห่งทุกข์ (ขุ.ธ.อ. 7/113)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :129 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 5. ทุพพจภิกขุวัตถุ
(1) ได้บาป (2) นอนไม่เป็นสุข
(3) ถูกนินทา (4) ตกนรก
[310] เพราะการได้บาป 1 การได้คติที่เลว 1
หญิงชายที่ต่างสะดุ้งกลัวมีความสนุกนิดหน่อย 1
ถูกพระราชาลงพระอาชญาอย่างหนัก 1
นรชนจึงไม่ควรเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

5. ทุพพจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ว่ายาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ดังนี้)
[311] หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี1
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[312] กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง 3 นั้น ไม่มีผลมาก2
[313] หากภิกษุพึงทำกรรมใด ก็ควรทำกรรมนั้นให้จริงจัง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่นคง
เพราะธรรมเครื่องละเว้น3ที่ประพฤติอย่างย่อหย่อน
รังแต่จะเกลี่ยธุลี4ลงใส่ตัว

เชิงอรรถ :
1 ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี หมายถึงภาวะแห่งความเป็นสมณะ กล่าวคือสมณธรรมที่ภิกษุ
ปฏิบัติไม่ดีเพราะเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น ย่อมส่งผลให้สัตว์ไปเกิดในนรก (ขุ.ธ.อ. 7/115)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/89/94, ขุ.เถร. (แปล) 26/277/384
3 ธรรมเครื่องละเว้น ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (ขุ.ธ.อ. 7/116)
4 ธุลี หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 7/116)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :130 }