เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 10. มหาธนวาณิชวัตถุ
[284] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า
แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย
ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน
เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น

9. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้)
[285] เธอจงตัดความรักของตน
เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล
จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ1เท่านั้น
เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว

10. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้)
[286] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน”
ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย2ที่จะมาถึงตน

เชิงอรรถ :
1 ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ 8 ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/72)
2 อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. 7/74)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :121 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 12. ปฏาจาราวัตถุ
11. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[287] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์
มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ1
ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป
เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น

12. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้)
[288] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
[289] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ 20 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ขุ.ธ.อ. 7/76)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :122 }