เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 4. อนัตตลักขณวัตถุ
2. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[277] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา1ว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

3. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[278] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

4. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[279] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์2

เชิงอรรถ :
1 เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. 7/56)
2 ข้อ 277-279 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/676-678/455, อภิ.ก.37/753/441

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :118 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 6. สูกรเปตวัตถุ
5. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[280] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง
แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ1 ปราศจากความเพียร
เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง2ด้วยปัญญา

6. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[281] บุคคลพึงรักษาวาจา3 พึงสำรวมใจ4
และไม่พึงทำความชั่วทางกาย5
พึงชำระกรรมบถทั้ง 3 ประการนี้ให้หมดจด
จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้

เชิงอรรถ :
1 มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก 3 ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
(ขุ.ธ.อ. 7/59)
2 ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. 7/59)
3 รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต 4 อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก
การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. 7/64)
4 สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. 7/64)
5 ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุริต 3 อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. 7/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :119 }