เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 1. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
20. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
1. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 500 รูป ดังนี้)
[273] บรรดามรรค มรรคมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัจจะ อริยสัจ 4 ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรม วิราคธรรม1ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า2ตถาคตผู้มีจักษุ3 ประเสริฐที่สุด4
[274] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ
คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง
[275] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
[276] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้5

เชิงอรรถ :
1 วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/54)
2 สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. 7/54)
3 จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. 3/13/17)
4 อภิ.ก. 37/872/496
5 เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 7/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :117 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 4. อนัตตลักขณวัตถุ
2. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[277] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา1ว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

3. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[278] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

4. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[279] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์2

เชิงอรรถ :
1 เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. 7/56)
2 ข้อ 277-279 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/676-678/455, อภิ.ก.37/753/441

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :118 }