เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 19. ธัมมัฏฐวรรค 6. หัตถกวัตถุ
5. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้)
[262] เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว
หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม
แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่
[263] ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา
จึงจะชื่อว่า คนดี

6. หัตถกวัตถุ
เรื่องหัตถกภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระหัตถกะผู้พูดจาเหลาะแหละ ดังนี้)
[264] ผู้ไม่มีวัตร1 พูดจาเหลาะแหละ
แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ
ผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา และความอยากได้
จะเป็นสมณะได้อย่างไร
[265] ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง
และเพราะเหตุที่ระงับบาปทั้งหลายได้นี้เอง
เขาจึงเรียกผู้นั้นว่า สมณะ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 97 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :114 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 19. ธัมมัฏฐวรรค 8. ติตถิยวัตถุ
7. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พราหมณ์คนหนึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเที่ยวบิณฑบาตอย่างภิกษุ
วันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะให้พระองค์ตรัสเรียกว่าภิกษุ พระองค์
จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[266] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ1 เพียงเพราะขอจากผู้อื่นเท่านั้น
ทั้งไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะยังสมาทานธรรมที่เป็นพิษอยู่2
[267] ในศาสนานี้ ผู้ที่ลอยบุญและบาปได้แล้ว
ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในโลกด้วยปัญญา
จึงจะชื่อว่า ภิกษุ

8. ติตถิยวัตถุ
เรื่องเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[268] บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
[269] เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี(เช่นกัน)3

เชิงอรรถ :
1 ภิกษุ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำลายกิเลสทั้งหลายได้ด้วยญาณ (ขุ.ธ.อ. 7/47)
2 สมาทานธรรมที่เป็นพิษ หมายถึงมีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ (ขุ.ธ.อ.7/47)
3 คาถาธรรมบท 2 ข้อนี้ มีข้อความสัมพันธ์กัน ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/14/71, ขุ.จู. (แปล) 30/21/129

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :115 }