เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 8. ติสสทหรวัตถุ
7. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก 5 คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสก 5 คน ดังนี้)
[246] นรชนใดในโลก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
[247] และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย1
นรชนนั้นชื่อว่า ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน2ของตนในโลกนี้
[248] ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย มักไม่สำรวม
ขอโลภะและอธรรม3 อย่าย่ำยีท่านให้เป็นทุกข์ตลอดกาลนานเลย

8. ติสสทหรวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระติสสะเที่ยวติเตียนทานของคนอื่น จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[249] บุคคลย่อมให้ทานตามความเชื่อตามความเลื่อมใส
ภิกษุไม่พอใจในข้าวและน้ำที่เป็นทานของคนอื่นนั้น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ4ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
[250] ส่วนภิกษุผู้ตัดอกุศลจิตนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
ย่อมบรรลุสมาธิในเวลากลางวันหรือกลางคืน

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/174/291
2 ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน หมายถึงนำที่นาและสวนไปจำนอง หรือขายขาด เพื่อนำทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม
(ขุ.ธ.อ. 7/19)
3 อธรรม หมายถึงโทสะ (ขุ.ธ.อ. 7/20)
4 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ หรือมัคคสมาธิ และผลสมาธิ (ขุ.ธ.อ. 7/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :109 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 10. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
9. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก 5 คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสกคนหนึ่ง ในจำนวน 5 คน ดังนี้)
[251] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี1

10. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องเมณฑกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เมณฑกเศรษฐี ดังนี้)
[252] โทษ2ของคนอื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น
เหมือนคนโปรยแกลบ
แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้
เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความหมายในคาถานี้ คือ ไฟยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟคนจึงสามารถดับได้ แต่ราคะเผาสัตว์ภายในไม่
แสดงอาการให้รู้, ผู้จับ เช่น ยักษ์ เป็นต้น สามารถจับสัตว์ได้ในชาติเดียวเท่านั้น แต่โทสะจับสัตว์ไม่มีที่
สิ้นสุด, ตาข่ายที่รัดรึงสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายได้ แต่โมหะที่รัดรึงสัตว์ยากที่จะแก้หรือคลายได้, แม่น้ำ
ยังมีวันพร่องหรือเต็มปรากฏให้เห็นได้ แต่ตัณหาไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันเหือดแห้ง ทั้งยังปรากฏความพร่อง
อยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก (ขุ.ธ.อ. 7/25)
2 โทษ หมายถึงความพลั้งพลาด (ขุ.ธ.อ. 7/34)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :110 }