เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 2. อัญญตรพราหมณวัตถุ
[236] ท่านนั้นจงทำที่พึ่ง1แก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
จะเข้าถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์2
[237] บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว3
เตรียมจะไปสำนักพระยายม
ที่พักระหว่างทางของท่านยังไม่มี
และแม้แต่เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มีเลย
[238] ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ก็จะไม่ต้องเข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

2. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ทำกุศลอยู่บ่อย ๆ ดังนี้)
[239] ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทิน4ของตน
ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ
เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น5

เชิงอรรถ :
1 ที่พึ่ง หมายถึงกุศลกรรม (ขุ.ธ.อ. 7/5)
2 อริยภูมิอันเป็นทิพย์ ในที่นี้หมายถึงสุทธาวาสภูมิ ที่อยู่ของพระอนาคามี มี 5 คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา
สุทัสสีและอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. 7/5, ที.ปา. 11/318/211)
3 มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว หมายถึงล่วงวัยทั้ง 3 ใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว (ขุ.ธ.อ. 7/5)
4 มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 7/7)
5 ดูเทียบ อภิ.ก. 37/178/102,346/189

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :106 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 4. โลลุทายีวัตถุ
3. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[240] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก
ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา1
ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น

4. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและไม่
ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[241] มนตร์2มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร3เป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน4 เป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาท5 เป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
1 โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย 4 แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้
ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย 4 แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. 7/11)
2 มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. 7/13)
3 ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. 7/13)
4 ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง
(ขุ.ธ.อ. 7/13)
5 ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต
หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง 6 (ขุ.ธ.อ. 7/13)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :107 }