เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
5. โลณผลวรรค 10. ปังสุโธวกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย มีสมัย1ที่จิตตั้งมั่นอยู่ภายใน สงบนิ่งอยู่ มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ สมาธินั้นเป็นธรรมสงบ ประณีต ได้ความสงบระงับ ถึงภาวะที่จิต
เป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง และภิกษุนั้นจะน้อม
จิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อ
มีเหตุแห่งสติ2 เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้
ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงใน
แผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่ง
ขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวง
อาทิตย์อันมีฤทธ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้”
เมื่อมี เหตุแห่งสติ2 เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงได้ยินเสียง 2 ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์” เมื่อมีเหตุแห่งสติ เธอย่อม
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิตของตน
คือ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้
ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือ
ปราศจากโมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะ3ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า
หลุดพ้น หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น” เมื่อมีเหตุแห่งสติ เธอย่อมบรรลุความ
เป็นผู้เหมาะที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ