เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
2. มหาวรรค 7. กถาวัตถุสูตร

7. กถาวัตถุสูตร
ว่าด้วยเรื่องที่ควรกล่าว

[68] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ1 3 ประการนี้
กถาวัตถุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ควรกล่าวถ้อยคำย้อนอดีตกาลว่า “อดีตกาลได้มีอย่างนี้”
2. ควรกล่าวถ้อยคำมุ่งถึงอนาคตกาลว่า “อนาคตกาลจักมีอย่างนี้”
3. ควรกล่าวถ้อยคำสืบเนื่องกับปัจจุบันกาลว่า “ปัจจุบันกาลมีอยู่อย่างนี้”
ชาวโลกพึงรู้จักบุคคลได้ด้วยการมาร่วมประชุมสนทนากันว่า “ผู้นี้ควรพูดด้วย
หรือไม่ควรพูดด้วย” ถ้าบุคคลนี้ถูกถามปัญหา ไม่ตอบโดยนัยเดียวซึ่งปัญหาที่ควร
ตอบนัยเดียว ไม่จำแนกตอบซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกตอบ ไม่ย้อนถามแล้วจึงตอบ
ปัญหาที่ควรย้อนถามแล้วจึงตอบ ไม่พักปัญหาที่ควรพักไว้ เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลนี้
ชื่อว่า “ผู้ไม่ควรพูดด้วย” แต่ถ้าบุคคลนี้ถูกถามปัญหา ตอบโดยนัยเดียวซึ่งปัญหาที่
ควรตอบโดยนัยเดียว จำแนกตอบปัญหาที่ควรจำแนกตอบ ย้อนถามแล้วจึงตอบ
ปัญหาที่ควรย้อนถามแล้วจึงตอบ พักปัญหาที่ควรพักไว้ เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลนี้ชื่อ
ว่า “ผู้ควรพูดด้วย”
ชาวโลกพึงรู้จักบุคคลได้ด้วยการมาร่วมประชุมสนทนากันว่า “ผู้นี้ควรพูดด้วย
หรือไม่ควรพูดด้วย” ถ้าบุคคลนี้ถูกถามปัญหา ไม่ตั้งมั่นอยู่ในฐานะและอฐานะ2
ไม่ตั้งมั่นอยู่ในปริกัป3 ไม่ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องที่ควรรู้ ไม่ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องปฏิบัติ เมื่อ
เป็นอย่างนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า “ผู้ไม่ควรพูดด้วย” แต่ถ้าบุคคลนี้ถูกถามปัญหา ตั้งมั่น
อยู่ในฐานะและอฐานะ ตั้งมั่นอยู่ในปริกัป ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องที่ควรรู้ ตั้งมั่นอยู่ใน
เรื่องปฏิบัติ เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า “ผู้ควรพูดด้วย”