เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
4. เทวทูตวรรค 9. สุขุมาลสูตร

8. ทุติยจตุมหาราชสูตร
ว่าด้วยท้าวมหาราชทั้ง 4 สูตรที่ 2

[38] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อแนะนำพวก
เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ตรัสคาถานี้ในเวลานั้นว่า
นรชนแม้ใดผู้เช่นกับเรา พึงอยู่จำอุโบสถ
ประกอบด้วยองค์ 8 สิ้นวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ
และ 8 ค่ำแห่งปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์
คาถานี้ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ขับไม่ดี กล่าวผิด กล่าวไม่ดี ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ
(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย)
โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นจากทุกข์
ส่วนภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นควรกล่าวคำว่า
นรชนแม้ใดผู้เช่นกับเรา พึงอยู่จำอุโบสถ
ประกอบด้วยองค์ 8 สิ้นวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ
และ 8 ค่ำแห่งปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นพ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า พ้นจากทุกข์

ทุติยจตุมหาราชสูตรที่ 8 จบ

9. สุขุมาลสูตร
ว่าด้วยสุขุมาลชาติ

[39] ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้สุขุมาลชาติ1 เป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง เป็น
ผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่งยวด ได้ทราบว่า พระราชบิดารับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี (สระบัว)


พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
4. เทวทูตวรรค 9. สุขุมาลสูตร

ไว้เพื่อเราภายในที่อยู่ ได้ทราบว่า พระราชบิดานั้นรับสั่งให้ปลูกอุบลไว้ในสระหนึ่ง
ปลูกปทุมไว้ในสระหนึ่ง ปลูกปุณฑริก(บัวขาว)ไว้ในสระหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่เรา เรา
ไม่ได้ใช้เฉพาะไม้จันทน์แคว้นกาสี(พาราณสี)เท่านั้น ผ้าโพกของเราก็ทำในแคว้นกาสี
เสื้อก็ทำในแคว้นกาสี ผ้านุ่งก็ทำในแคว้นกาสี ผ้าห่มก็ทำในแคว้นกาสี ทั้งคนรับใช้
คอยกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดวันและคืนด้วยหวังว่า หนาว ร้อน ธุลี หญ้า หรือ
น้ำค้างอย่าได้กระทบพระองค์ท่าน
เรานั้นมีปราสาทอยู่ 3 หลัง คือ ปราสาทหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว
หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน เรานั้นได้รับการบำเรอด้วย
ดนตรีที่ไม่ใช่บุรุษบรรเลง ตลอด 4 เดือนฤดูฝน ในปราสาทฤดูฝน ไม่ได้ลงข้างล่าง
ปราสาทเลย ก็แลในที่อยู่ของคนเหล่าอื่น เขาให้ข้าวป่น(ข้าวหัก)มีน้ำผักดองเป็นกับ
แก่ทาส คนงาน และคนรับใช้ ฉันใด ในนิเวศน์ของพระราชบิดาของเราก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เขาให้ข้าวสาลีสุกผสมเนื้อแก่ทาส คนงาน และคนรับใช้
เรานั้นเพียบพร้อมด้วยความสำเร็จอย่างนี้ และเป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ได้
มีความคิดว่า ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ ตนเองเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วง
พ้นความแก่ไปได้ เห็นบุคคลอื่นแก่ ก็อึดอัด ระอา รังเกียจ ลืมตัว ไม่คิดว่า
แม้เราเองก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ การที่เราผู้มีความแก่
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นบุคคลอื่นแก่ ก็อึดอัด ระอา รังเกียจนั้น
ไม่สมควรแก่เราเลย เรานั้น เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ จึงละความมัวเมาในความ
เป็นหนุ่มสาวได้โดยประการทั้งปวง
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ตนเองเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ
เจ็บไข้ไปได้ เห็นบุคคลอื่นเจ็บไข้ ก็อึดอัด ระอา รังเกียจ ลืมตัว ไม่คิดว่า แม้
เราเองก็มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ การที่เราผู้มีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้เห็นบุคคลอื่นเจ็บไข้ ก็อึดอัด ระอา
รังเกียจนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย เรานั้น เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ จึงละความมัว
เมาในความไม่มีโรคได้โดยประการทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :199 }