เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. อายาจนวรรค

[132] ภิกษุณีผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า “ขอ
ให้เราเป็นเช่นกับภิกษุณีเขมาและภิกษุณีอุบลวรรณาเถิด” เขมาและอุบลวรรณานี้
เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของภิกษุณีสาวิกาของเรา (2)
[133] อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า “ขอ
ให้เราเป็นเช่นกับจิตตคหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเถิด” จิตตคหบดีและ
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของอุบาสกสาวก
ของเรา (3)
[134] อุบาสิกาผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า
“ขอให้เราเป็นเช่นกับอุบาสิกาขุชชุตตราและอุบาสิกาเวฬุกัณฏกีนันทมาตาเถิด”
ขุชชุตราและเวฬุกัณฏกีนันทมาตานี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของอุบาสิกา
สาวิกาของเรา (4)
[135] คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพ
สิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม 2 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง พูดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
2. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง พูดติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม 2 ประการนี้แล
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพ
สิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ ย่อม
บริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน และ
ประสพบุญเป็นอันมาก
ธรรม 2 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว พูดติเตียนคนที่ควรติเตียน
2. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว พูดสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :117 }