เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [10. อัพยากตสังยุต] 2. อนุราธสูตร

เมื่ออัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ได้มีความคิดว่า
‘ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามปัญหากับเรายิ่งขึ้นไป เราจะพยากรณ์แก่
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล
ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อนุราธะ เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยง
หรือไม่เที่ยง”
ท่านพระอนุราธะกราบทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือ
ไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ๋
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุราธะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกล
หรืออยู่ใกล้ รูปทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้
ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :475 }