เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [8. คามณิสังยุต] 13. ปาฏลิยสูตร

ธรรมสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในศาสนานี้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ละการลัก
ทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ละการพูดคำส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำส่อเสียด ละการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ละความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ละความประทุษร้ายที่เกิดจากพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท
ละมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ
ผู้ใหญ่บ้าน อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ปราศจาก
พยาบาทอย่างนี้ไม่หลง มีสัมปชัญญะ มีสติ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศ
ที่ 2 ...ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้
ว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำไว้ดีและชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่
มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้
และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
ถ้าศาสดาท่านนั้นพูดจริง ข้อที่เราสำรวมกาย วาจา ใจ และข้อที่เราหลังจาก
ตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ทั้ง 2 ข้อนี้เป็นการถือเอาชัยชนะในคำสอน
เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ๆ ไม่ว่าผู้สะดุ้งหรือผู้มั่นคง จึงเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด’
ปราโมทย์ก็เกิดแก่อริยสาวกนั้น เมื่อเกิดปราโมทย์ ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ
กายก็สงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมอยู่สบาย จิตของเธอผู้อยู่สบายย่อมตั้งมั่น
ผู้ใหญ่บ้าน ธรรมสมาธิเป็นอย่างนี้แล ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้
จิตตสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพึงละความเคลือบแคลงนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :440 }