เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [8. คามณิสังยุต] 11. คันธภกสูตร

สมเหตุสมผล ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้
เพราะว่าทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน
ไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน
ผู้ใหญ่บ้าน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด กามคุณ 5 ก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณ 5
ควรแก่ผู้ใด (ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น) ผู้ใหญ่บ้าน เราให้เข้าใจเรื่องนี้โดยส่วน
เดียวว่า ‘ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร’
อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึง
แสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ’
แต่เราไม่กล่าวเลยว่า ‘พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยประการใด ๆ”

มณิจูฬกสูตรที่ 10 จบ

11. คันธภกสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อคันธภกะ

[363] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปนิคมของชาว
มัลละ แคว้นมัลละ ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อคันธภกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรง
แสดงเหตุเกิดและความดับทุกข์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ผู้ใหญ่บ้าน เราพึงปรารภอดีตกาล แสดงเหตุเกิดทุกข์และความดับทุกข์แก่
ท่านว่า ‘อดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้’ ความสงสัยความเคลือบแคลงในเรื่องนั้นพึงมี
แก่ท่าน
ถ้าเราพึงปรารภอนาคตกาล แสดงเหตุเกิดทุกข์และความดับทุกข์แก่ท่านว่า
‘อนาคตกาลจักมีอย่างนี้’ ความเคลือบแคลงความสงสัยในเรื่องนั้นพึงมีแก่ท่าน
อนึ่ง เรานั่งอยู่ในที่นี้แล จักแสดงเหตุเกิดและความดับทุกข์แก่ท่านผู้นั่งอยู่ใน
ที่นี้เหมือนกัน ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :416 }