เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [7. จิตตสังยุต] 3. ทุติยอิสิทัตตสูตร

คนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคต
ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ทิฏฐิ 62 อย่างนี้พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสไว้แล้วในพรหมชาลสูตร คหบดี เมื่อสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นกายของตน)
มี ทิฏฐิเหล่านี้จึงมี เมื่อสักกายทิฏฐิไม่มี ทิฏฐิเหล่านี้จึงไม่มี”
“ท่านผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมมีได้อย่างไร”
“คหบดี ปุถุชน1ในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็น
รูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือ
พิจารณาเห็นอัตตาในรูป พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ สัญญา ...
สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
คหบดี สักกายทิฏฐิย่อมมีได้อย่างนี้แล”
“ท่านผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมมีไม่ได้อย่างไร”
“คหบดี อริยสาวกในศาสนานี้ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดใน
ธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดย
ความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือไม่
พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่พิจารณา
เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณา
เห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ คหบดี สักกายทิฏฐิ
ย่อมมีไม่ได้อย่างนี้แล”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [7. จิตตสังยุต] 3. ทุติยอิสิทัตตสูตร

“ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าอิสิทัตตะมาจากไหน”
“คหบดี อาตมภาพมาจากอวันตีชนบท”
“ท่านผู้เจริญ กุลบุตรชื่ออิสิทัตตะในอวันตีชนบท ซึ่งเป็นสหายที่ไม่เคยเห็น
ของกระผม ออกบรรพชามีอยู่ พระคุณเจ้าเคยเห็นท่านหรือไม่”
“เจริญพร คหบดี”
“ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ท่านอยู่ที่ไหน”
เมื่อจิตตคหบดีถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอิสิทัตตะได้นิ่งอยู่
“ท่านผู้เจริญ ท่านพระอิสิทัตตะของกระผมคือพระคุณเจ้าหรือ”
“เจริญพร คหบดี”
“ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอิสิทัตตะจงยินดีอัมพาฏกวันอันน่ารื่นรมย์ เขต
เมืองมัจฉิกาสัณฑ์เถิด กระผมจักบำรุงพระคุณเจ้าด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร”
“โยมพูดดี”
ลำดับนั้น จิตตคหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของท่านอิสิทัตตะแล้ว ได้นำของขบฉัน
อันประณีตประเคนภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยตนเอง ขณะนั้นภิกษุผู้
เป็นเถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ววางมือจากบาตร ลุกจากอาสนะแล้วจากไป
ต่อมา ท่านพระเถระได้กล่าวกับท่านพระอิสิทัตตะดังนี้ว่า “ดีละ ท่านอิสิทัตตะ
ปัญหาข้อนี้แจ่มแจ้งแก่ท่าน ไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ถ้าเช่นนั้น เมื่อปัญหาเช่นนี้มาถึง
แม้โดยประการอื่น ท่านพึงตอบปัญหานั้นแล”
ลำดับนั้น ท่านพระอิสิทัตตะเก็บงำเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรจากไป
จากเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ได้จากไปแล้วอย่างที่ท่านจะไป ไม่กลับมาอีก

ทุติยอิสิทัตตสูตรที่ 3 จบ