เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
1. ปฐมปัณณาสก์ 3. สัพพวรรค 10. ทุติยสมุคฆาตสัปปายสูตร

มโนวิญญาณ ... ไม่กำหนดหมายมโนสัมผัส ... ไม่กำหนดหมายแม้ความเสวย
อารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
ไม่กำหนดหมายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่กำหนดหมายแม้เพราะความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข
หรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่กำหนดหมาย
ว่า ‘ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะ
มโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้นของเรา’
อนึ่ง ภิกษุกำหนดหมายสิ่งใด กำหนดหมายในสิ่งใด กำหนดหมายเพราะสิ่งใด
กำหนดหมายว่า ‘สิ่งใดของเรา’ สิ่งนั้นย่อมเป็นโดยอาการอื่นจากที่กำหนดหมายนั้น
คือ สัตว์โลกข้องอยู่ในภพ มีความเปลี่ยนแปลงโดยอาการอื่น ก็ยังยินดีภพอยู่นั่นเอง
ไม่กำหนดหมายแม้ขันธ์ ธาตุ และอายตนะเท่าที่มีอยู่ ไม่กำหนดหมายใน
ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ไม่กำหนดหมายแม้เพราะขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ไม่
กำหนดหมายว่า ‘ขันธ์ ธาตุ และอายตนะนั้นของเรา’
ภิกษุผู้ไม่กำหนดหมายอยู่อย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น
ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับเฉพาะตนเอง รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่
จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
ต่อไป’
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่การเพิกถอนความกำหนดหมาย
ทั้งปวง เป็นอย่างนี้แล”

ปฐมสมุคฆาตสัปปายสูตรที่ 9 จบ

10. ทุติยสมุคฆาตสัปปายสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่การเพิกถอน
ความกำหนดหมาย สูตรที่ 2

[32] “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่การเพิกถอน
ความกำหนดหมายทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :34 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
1. ปฐมปัณณาสก์ 3. สัพพวรรค 10. ทุติยสมุคฆาตสัปปายสูตร

ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่การเพิกถอนความกำหนดหมายทั้งปวง เป็น
อย่างไร
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“รูป ฯลฯ จักขุวิญญาณ ฯลฯ จักขุสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :35 }