เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 9. ปัญจกังคสูตร

1. สุขเวทนา 2. ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขที่สงบประณีต”
ท่านพระอุทายีไม่สามารถให้ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ ช่างไม้ชื่อ
ปัญจกังคะก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายียินยอมได้ ท่านพระอานนท์ได้ยินการ
สนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายีกับช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลถึงการสนทนาปราศรัยของท่านพระอุทายีกับช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “อานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตาม
บรรยาย1ที่มีอยู่ของอุทายีภิกษุ ส่วนอุทายีภิกษุก็ไม่คล้อยตามบรรยายที่มีอยู่ของ
ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ประเภทแห่งเวทนา
อานนท์ เรากล่าวเวทนา 2 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 3 ประการ
ไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 5 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 6 ประการ
ไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 18 ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 36
ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา 108 ประการไว้โดยบรรยายก็มี
ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญ ไม่รู้ ไม่ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้ว
แก่กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่
ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักสำคัญ รู้ ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้วแก่
กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 9. ปัญจกังคสูตร

กามสุข (สุขที่เกิดจากกามคุณ)
อานนท์ กามคุณ 5 ประการนี้
กามคุณ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ฯลฯ
5. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณ 5 ประการนี้
สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ 5 ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข
ชนเหล่าใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่าง
ยิ่งนี้” เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนเหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้

สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่า

อานนท์ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและจากอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างนี้แล
ชนเหล่าใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่าง
ยิ่งนี้” เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนเหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ เพราะวิตกวิจารระงับไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :296 }