เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 5. ปฐมอานันทสูตร

4. อคารสูตร
ว่าด้วยเรือนพัก

[262] “ภิกษุทั้งหลาย มีเรือนพักคนเดินทางอยู่ คนทั้งหลายมาจากทิศ
ตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง
เข้ามาพักในเรือนพักคนเดินทางนั้น คือ กษัตริย์มาพักบ้าง พราหมณ์มาพักบ้าง
แพศย์มาพักบ้าง ศูทรมาพักบ้าง แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาชนิดต่าง ๆ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้
คือ สุขเวทนาเกิดขึ้นบ้าง ทุกขเวทนาเกิดขึ้นบ้าง อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้นบ้าง
สุขเวทนาเจืออามิส1เกิดขึ้นบ้าง ทุกขเวทนาเจืออามิส2เกิดขึ้นบ้าง อทุกขมสุข-
เวทนาเจืออามิส3เกิดขึ้นบ้าง สุขเวทนาไม่เจืออามิส4เกิดขึ้นบ้าง ทุกขเวทนาไม่เจือ
อามิส5เกิดขึ้นบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่เจืออามิส6เกิดขึ้นบ้าง”

อคารสูตรที่ 4 จบ

5. ปฐมอานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์ สูตรที่ 1

[263] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 5. ปฐมอานันทสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างไร
ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร
อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจาก
เวทนา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เวทนามี 3 ประการนี้ คือ
1. สุขเวทนา 2. ทุกขเวทนา
3. อทุกขมสุขเวทนา
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา
เพราะผัสสะเกิดเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ 8
นี้แล เป็นปฏิปทาที่ให้ถึง ความดับแห่งเวทนา คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งเวทนา
สภาพที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ
แห่งเวทนา
ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นเครื่อง
สลัดออกจากเวทนา
ต่อมาเรากล่าวความดับไปแห่งสังขารตามลำดับ คือ
1. เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาก็ดับไป ฯลฯ
9. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาก็ดับไป
10. ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ราคะย่อมดับไป โทสะย่อมดับไป โมหะย่อม
ดับไป
ต่อมาเรากล่าวความระงับไปแห่งสังขารตามลำดับ คือ
1. เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาก็ระงับไป ฯลฯ
9. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาก็ระงับไป
10. ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ราคะย่อมระงับไป โทสะย่อมระงับไป โมหะ
ย่อมระงับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :289 }