เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
1. สคาถวรรค 7. ปฐมเคลัญญสุตร

เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เพราะอาศัยกัน
อทุกขมสุขเวทนานั้นจึงเกิดขึ้น เพราะไม่อาศัยกัน จึงไม่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอะไร
เพราะอาศัยกายนี้เอง แต่กายนี้ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น
อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายที่ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและ
กันเกิดขึ้น ที่ไหนจักเที่ยงเล่า’
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อม ความคลายกำหนัด ความดับ
และความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความ
ไม่เที่ยง ฯลฯ และความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่อย่างนี้ ย่อมละ
อวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนาได้
ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่า
หมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ ถ้าเธอเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’
รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวย
ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขม-
สุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจาก
ตายไป ก็รู้ชัดว่า ‘เวทนาทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว’
เปรียบเวทนากับตะเกียง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ตะเกียงน้ำมันจึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้น
น้ำมันและไส้ ตะเกียงน้ำมันนั้นก็หมดเชื้อดับไปแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวย
เวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจากตายไป
ก็รู้ชัดว่า ‘เวทนาทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว ๋

ปฐมเคลัญญสูตรที่ 7 จบ