เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
1. สคาถวรรค 1. สมาธิสูตร

2. เวทนาสังยุต
1. สคาถวรรค
หมวดว่าด้วยสูตรที่มีคาถา
1. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ

[249] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวทนา 3 ประการนี้
เวทนา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
2. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
3. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกสุขก็ไม่ใช่ทุกข์ก็ไม่ใช่)
ภิกษุทั้งหลาย เวทนา 3 ประการนี้แล
สาวกของพระพุทธเจ้ามีจิตตั้งมั่น มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา
นิพพานอันเป็นที่ดับแห่งเวทนา
และทางดำเนินให้ถึงความสิ้นไปแห่งเวทนาเหล่านั้น
เพราะสิ้นเวทนา ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว”

สมาธิสูตรที่ 1 จบ

2. สุขสูตร
ว่าด้วยความสุข

[250] “ภิกษุทั้งหลาย เวทนา 3 ประการนี้
เวทนา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สุขเวทนา 2. ทุกขเวทนา
3. อทุกขมสุขเวทนา
ภิกษุทั้งหลาย เวทนา 3 ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :270 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
1. สคาถวรรค 3. ปหานสูตร

ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์
ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่
ภิกษุรู้ว่าเวทนานี้เป็นทุกข์
มีความพินาศแตกสลายเป็นธรรมดา
ถูกต้องสัมผัสความเสื่อม(ด้วยญาณ)อยู่
ย่อมคลายความยินดีในเวทนาเหล่านั้นด้วยประการอย่างนี้”

สุขสูตรที่ 2 จบ

3. ปหานสูตร
ว่าด้วยการละ

[251] “ภิกษุทั้งหลาย เวทนา 3 ประการนี้
เวทนา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สุขเวทนา 2. ทุกขเวทนา
3. อทุกขมสุขเวทนา
เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคือราคะ) ในสุข-
เวทนา พึงละปฏิฆานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคือความกระทบกระทั่งในใจ)
ในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคืออวิชชา) ใน
อทุกขมสุขเวทนา เพราะภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา
ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนาได้ ฉะนั้นภิกษุนี้เราจึงเรียกว่า ‘ผู้ไม่มีอนุสัย มี
ความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้ เพิกถอนสังโยชน์แล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะ
รู้แจ้งมานะได้โดยชอบ’
ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนา
ผู้ไม่รู้ชัด มีปกติไม่เห็นธรรมเครื่องสลัดออก
ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา
ผู้ไม่รู้ชัด มีปกติไม่เห็นธรรมเครื่องสลัดออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :271 }