เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 7. ทุกขธัมมสูตร

ผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแก่เธอ
ความไม่สำรวมเป็นอย่างนี้แล
ความสำรวม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้าย
ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็น
บาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็น
ผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้น
แล้วแก่เธอ
ความสำรวมเป็นอย่างนี้แล
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมสติในกาลบางครั้งบางคราว สติ
เกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
บุรุษพึงให้หยาดน้ำ 2-3 หยดตกลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน หยาด
น้ำตกลงช้า ขณะนั้นหยาดน้ำพึงระเหย เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว แม้ฉันใด ข้อนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มี
ความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมสติในกาลบาง
ครั้งบางคราว สติเกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
ภิกษุตามรู้ธรรมเครื่องประพฤติและธรรมเครื่องอยู่ โดยอาการที่เมื่อประพฤติ
อยู่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสจะไม่ครอบงำ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :253 }