เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 3. กุมโมปมสูตร

ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่อง
ขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย
ที่เป็นเครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอน
ดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะ
ลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็น
เครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 3 ประการนี้แล ชื่อว่ามีสุขโสมนัส
มากอยู่ในปัจจุบัน และชื่อว่าปรารภเหตุเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”

รโถปมสูตรที่ 2 จบ

3. กุมโมปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเต่า

[240] “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีเต่าตัวหนึ่ง เวลาเย็นเที่ยว
หากินที่ริมฝั่งแม่น้ำ แม้สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเวลานั้นก็เที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ
เต่าเห็นสุนัขจิ้งจอกเที่ยวหากินแต่ไกล ก็หดหัวและขาเข้ากระดองของตน ไม่เคลื่อน
ไหว นิ่งอยู่ ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็เห็นเต่าเที่ยวหากินแต่ไกลเหมือนกัน จึงเข้าไปหา
เต่าแล้วยืนอยู่ใกล้ด้วยคิดว่า ‘เมื่อใดเต่านี้โผล่หัวและขาส่วนใดส่วนหนึ่งออกมา
เมื่อนั้นเราจักงับมันฟาดแล้วกินเสีย ในที่นั้น’ เมื่อใดเต่าไม่โผล่หัวและขาส่วนใด
ส่วนหนึ่งออกมา เมื่อนั้นสุนัขจิ้งจอกก็เบื่อหน่าย ไม่ได้โอกาส เดินจากเต่าไป
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มารผู้มีบาปเข้าใกล้เธอทั้งหลายสม่ำเสมอด้วย
คิดว่า ‘บางทีเราจะพึงได้โอกาสทางตา ฯลฯ ทางลิ้น ฯลฯ หรือทางใจของภิกษุ
เหล่านี้’ เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจงคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เห็น
รูปทางตาแล้วอย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :241 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 4. ปฐมทารุกขันโธปมสูตร

สำรวมแล้วก็จะพึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก
... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว
อย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะ
พึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษา
มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเธอทั้งหลายจักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เมื่อ
นั้น แม้มารผู้มีบาปก็จะเบื่อหน่าย ไม่ได้โอกาส หลีกจากเธอทั้งหลายไป เหมือน
สุนัขจิ้งจอกเดินจากเต่าไปฉะนั้น
ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นในมโนวิตก ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดับกิเลสแล้ว ไม่ว่าร้ายใคร ๆ
เหมือนเต่าหดหัวและขาไว้ในกระดองของตนฉะนั้น”

กุมโมปมสูตรที่ 3 จบ

4. ปฐมทารุกขันโธปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยขอนไม้ สูตรที่ 1

[241] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา เขตกรุงโกสัมพี
ได้ทอดพระเนตรเห็นขอนไม้ใหญ่ ลอยมาตามกระแสแม่น้ำคงคา จึงรับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นขอนไม้ใหญ่โน้นที่
ลอยมาตามกระแสแม่น้ำคงคาหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าขอนไม้จะไม่ลอยเข้ามาใกล้ฝั่งนี้ ไม่ลอยเข้าไปใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมกลาง
แม่น้ำ ไม่เกยตื้น ไม่ถูกมนุษย์นำไป ไม่ถูกอมนุษย์นำไป ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้
ไม่ผุภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอนไม้นั้นก็จักลอยไปสู่สมุทรได้ ไหลไปสู่สมุทรได้
เลื่อนไปสู่สมุทรได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะกระแสแม่น้ำคงคาลุ่มไปสู่สมุทร ลาดไปสู่สมุทร ไหลไปสู่สมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :242 }