เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 2. รโถปมสูตร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะพึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ภิกษุฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติ
เพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะพึงเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศล
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
นายสารถีฝึกม้าผู้ฉลาด เป็นอาจารย์ฝึกม้าขึ้นสู่รถม้าซึ่งมีประตักเตรียมพร้อม
ไว้แล้ว ดึงเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา ขับไปข้างหน้าก็ได้ ถอยหลังก็ได้
ในถนนใหญ่สี่แยกซึ่งมีพื้นเรียบเสมอตามต้องการแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมศึกษาเพื่อรักษา ย่อมศึกษาเพื่อสำรวม ย่อมศึกษาเพื่อฝึกฝน ย่อมศึกษา
เพื่อระงับอินทรีย์ 6 ประการนี้
ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหาร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น
ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้
แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนิน
ไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา’
บุรุษพึงทาแผลก็เพียงเพื่อต้องการให้หาย หรือบุรุษพึงหยอดเพลารถก็เพียง
เพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันพิจารณาโดยแยบคาย
แล้วฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง
แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความ
เบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า
และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความ
อยู่ผาสุกจักมีแก่เรา’
ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหารเป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :240 }